หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

มาทำสมาธิเพื่อคลายเครียด ทำให้จิตนุ่มนวลควรแก่งานกันเถอะ...

ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงเข้าพรรษา หลายๆ คนก็จะเน้นทำบุญทำความดีต่างๆ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีในการดำเนินชีวิต เพื่อนๆ คะ การทำบุญนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราสบายใจได้ ยิ่งการทำบุญด้วยการทำสมาธิ ยิ่งช่วยคลายเครียด คลายจากความทุกข์ทั้งกายและใจได้ลองอ่านข้อมูลนี้ดูนะคะ เผื่อว่าจะมีเพื่อนๆ ท่านใดมีงานยุ่งมากหรือมีความเครียดอะไรอยู่จะได้หันมาปฏิบัติสมาธิดูบ้างนะคะ นอกจากจะได้บุญกุศลแล้วยังช่วยให้คลายเครียดและจิตใจเป็นสุขขึ้นค่ะ

สมาธิ คือการที่จิตตั้งมั่น สงบ แน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ซัดส่าย ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ภายนอกที่มากระทบ เป็นการกำหนดจิตแน่วแน่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงเรื่องเดียวไม่ให้ฟุ้งซ่านไปเป็นอื่น สมาธิจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีในการทำงานทุกอย่าง แต่การที่จะเกิดสมาธิขึ้นได้นี้ต้องมีการฝึกหัด สมาธิธรรมดาที่มีอยู่นั้นไม่พอเพียงเพราะบางครั้งเมื่อมีเรื่องหรือปัญหาภายนอกมากระทบใจ จิตใจของเราอ่อนแอ หวั่นไหว กระสับกระส่าย ก็ยากจะรวมใจรวมสมาธิมาจดจ่อกับการงานได้ บางครั้งเกิดอารมณ์โกรธ อารมณ์รัก อารมณ์หลง จนรวมใจไม่ได้ ปล่อยใจให้เพริดไปกับอารมณ์เหล่านั้นทำการงานไม่ได้เป็นสัปดาห์เป็นเดือนก็มี คนที่มีสมาธิ มีจิตสงบตั้งมั่นดี ก็คือคนที่มีสุขภาพจิตดี สามารถควบคุมให้ใจมาจดจ่อกับสิ่งที่ตนต้องการได้ ไม่หวั่นไหวง่ายๆ เปรียบคนมีสมาธิกับคนที่มีร่างกายแข็งแรง รักษาสุขภาพอย่างดี เมื่อมีเชื้อโรคหรือโรคภัยใดๆ มาเบียดเบียน คนแข็งแรงสมบูรณ์ย่อมจะไม่ล้มเจ็บลงโดยง่าย ยังสามารถทำงานทำหน้าที่ได้ต่อไป คนมีสมาธิตั้งมั่น เมื่อมีสิ่งภายนอกมากระทบ (ซึ่งมีมาประจำทุกวันอยู่แล้วในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นเสียงรบกวน หรือเรื่องราวต่างๆ) ก็ยังคงทำงานได้โดยจิตใจไม่กระสับกระส่าย หรือพลุ่งพล่านไปตามสิ่งที่มากระทบนั้น นอกจากนี้คนที่ฝึกหัดสมาธิก็เปรียบกับคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ การฝึกหัดสมาธิจึงฝึกเพื่อแก้อารมณ์และกิเลสของใจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและเป็นการฝึกใจให้มีพลังของสมาธิมากขึ้น คนที่ฝึกสมาธิมาแล้วตามสมควร เมื่อเกิดอารมณ์และกิเลสต่างๆ ก็จะระงับใจได้ไม่ลุแก่อำนาจของอารมณ์และกิเลส ทำให้ทำงานต่อไปได้ ทั้งจิตใจก็จะตั้งมั่นมากขึ้น เมื่อประกอบภารกิจใดๆ จิตใจจะจดจ่อกับงานมีพลังในการทำงานมากขึ้น

ลักษณะและอาการของจิตที่เป็นสมาธิ

จิตที่เป็นสมาธิ คือจิตที่มีคุณภาพดี มีสมรรถภาพสูง จะมีลักษณะดังนี้
1. แข็งแรง มีพลังมาก ท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนกระแสน้ำที่ถูกควบคุมให้ไหลพุ่งไปในทิศทางเดียว ย่อมมีกำลังแรงกว่าน้ำที่ถูกปล่อยให้ไหลพร่ากระจายออกไป
2. ราบเรียบ สงบซึ้ง เหมือนสระหรือบึงใหญ่ที่มีน้ำนิ่ง ไม่มีลมพัดต้องไม่มีสิ่งรบกวนให้กระเพื่อมไหว
3. ใส กระจ่าง มองเห็นอะไรๆ ได้ชัด เหมือนน้ำสงบนิ่ง ไม่เป็นริ้วคลื่นและฝุ่นละอองที่มีก็ตกตะกอนนอนก้นหมด
4. นุ่มนวล ควรแก่งาน หรือเหมาะแก่การใช้งานเพราะไม่เครียด ไม่กระด้าง ไม่วุ่น ไม่ขุ่นมัว ไม่สับสน ไม่เร่าร้อน ไม่กระวนกระวาย

ประโยชน์ของสมาธิ

ในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนมีความเครียด มีความวิตกกังวลกันมาก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ที่สับสนและต้องแข่งกับเวลา มีผู้คนจำนวนไม่น้อยพยายามหาทางคลายความเครียด คลายความวิตกกังวลโดยการเจริญสมาธิ สมาธิมีประโยชน์ทำให้จิตใจสงบนิ่ง ไม่สับสน ไม่กังวล ได้อย่างแท้จริง เมื่อจิตสงบไม่กังวลก็ไม่เครียด และสามารถใช้ความสงบของจิตในการพิจารณาแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างดีอีกด้วย แต่สมาธิไม่ได้มีประโยชน์เพียงเพื่อคลายความเครียด ความวิตกกังวลเท่านั้น ยังมีประโยชน์อีกมากมายหลายประการ ที่สำคัญที่สุดคือ สมาธิ หรือสัมมาสมาธิ เป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นองค์หนึ่งในอริยมรรคมีองค์แปด พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่า "สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร (การอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน) สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย"
ข้อความดังกล่าว แสดงว่าสมาธิภาวนาทำให้อยู่เป็นสุข นำไปสู่การได้ปัญญาเห็นแจ้ง นำไปสู่ความมีสติสัมปชัญญะ และนำไปสู่การประหารกิเลสให้หมดไปในที่สุด

พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้รวบรวมประโยชน์ของสมาธิไว้ 4 ประการ จึงนำมาแสดง (สรุป)ในที่นี้คือ

ก. ประโยชน์ที่เป็นจุดหมายหรือเป็นอุดมคติทางศาสนา คือสมาธิเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งปวง
1. ประโยชน์ที่ตรงแท้ของข้อนี้คือ สมาธิเป็นบาทหรือเป็นพื้นแห่งวิปัสสนา (การเตรียมจิตให้พร้อมที่จะใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นให้รู้แจ้งสภาวะธรรมของความเป็นจริง) ซึ่งจะนำไปสู่พระนิพพานได้ในที่สุด
2. ประโยชน์ที่รองลงมา คือทำให้จิตหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสชั่วคราวด้วยการกด การข่ม และทับ นิวรณ์ 5 ไว้ได้ตลอดเวลาที่ยังอยู่สมาธิ

ข. ประโยชน์ในด้านการสร้างความสามารถพิเศษเหนือสามัญวิสัย หรือเรียกว่าประโยชน์ในด้านอภิญญา

ค. ประโยชน์ในด้านสุขภาพจิตและการพัฒนาบุคคลิกภาพ เช่นทำให้เป็นผู้มีจิตใจและบุคคลิกลักษณะเข้มแข็ง หนักแน่น มั่นคง สงบ เยือกเย็น สุภาพ นิ่มนวล สดชื่น ผ่องใส กระฉับกระเฉง เบิกบาน งามสง่า มีเมตตากรุณา มองดูรู้จักตนเองและผู้อื่นตามความเป็นจริง (ตรงข้ามกับลักษณะของคนมีนิวรณ์ เช่น อ่อนไหว ติดใจ หลงใหลง่าย หยาบกระด้าง ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด หงุดหงิด วู่วาม วุ่นวาย จุ้นจ้าน สอดแส่ ลุกลี้ลุกลน หรือหงอยเหงา เศร้าซึม ขี้หวาด ขี้ระแวง ลังเล) เตรียมจิตให้อยู่ในสภาพพร้อมและง่ายแก่การปลูกฝังคุณธรรมต่างๆ และเสริมสร้างนิสัยที่ดี รู้จักทำใจให้สงบและสะกดยั้งผ่อนเบาความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจได้ เรียกอย่างสมัยใหม่ว่า มีความมั่นคงทางอารมณ์และมีภูมิคุ้มกันโรคทางจิต...

ง. ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น
1. ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายความเครียด เกิดความสงบหายกระวนกระวาย ยั้งหยุดจากความกลัดกลุ้มวิตกกังวล เป็นเครื่องพักผ่อนกาย ให้ใจสบายและมีความสุข
2. เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน การเล่าเรียนและการทำกิจทุกอย่าง เพราะจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กำลังกระทำ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก ไม่เลื่อนลอย ย่อมช่วยให้เรียนให้คิด ให้ทำงานได้ผลดี การงานก็เป็นไปโดยรอบคอบ ไม่ผิดพลาดและป้องกันอุบัติเหตุได้ดี เพราะเมื่อมีสมาธิก็ย่อมมีสติกำกับอยู่ด้วย นั่นคือ จิตควรแก่งานหรือเหมาะแก่การใช้งาน
3. ช่วยเสริมสุขภาพกายและใช้แก้ไขโรคได้ ร่างกายกับจิตใจอาศัยกันและมีอิทธิพลต่อกัน ปุถุชนทั่วไปเมื่อกายไม่สบายจิตใจก็พลอยอ่อนแอเศร้าหมอง ขุ่นมัว ครั้นเสียใจไม่มีกำลังใจ ก็ยิ่งซ้ำให้โรคทางกายนั้นทรุดหนักลงไปอีก แม้ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติ พอประสบเรื่องราวให้เศร้าใจเสียใจรุนแรง ก็ล้มป่วยเจ็บไข้ไปได้ ส่วนผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งสมบูรณ์ (โดยเฉพาะท่านที่มีจิตหลุดพ้นเป็นอิสระแล้ว) เมื่อเจ็บป่วยกายก็ไม่สบายอยู่แค่กายเท่านั้น จิตใจไม่พลอยป่วยไปด้วย ยิ่งกว่านั้นกลับใช้ใจที่สบายมีกำลังจิตเข้มแข็งนั้นหันกลับมาส่งอิทธิพลบรรเทาหรือผ่อนเบาโรคทางกายได้อีกด้วย อาจทำให้โรคหายง่ายและไวขึ้น หรือแม้แต่ใช้กำลังสมาธิระงับทุกขเวทนาทางกายไว้ก็ได้ ผู้มีจิตใจผ่องใสเบิกบาน ย่อมช่วยให้กายเอิบอิ่มผิวพรรณผ่องใส สุขภาพกายดีเป็นภูมิต้านทานโรคไปในตัว

เมื่อเพื่อนๆ อ่านจบแล้วจะเห็นว่าสมาธินั้นมีประโยชน์มากเลยนะคะ เรามาเริ่มทำกันไม่ผลัดวันประกันพรุ่งดีกว่าค่ะ เริ่มเลยค่ะ ตั้งแต่การมีสมาธิในการทำภารกิจต่างๆ ในชีวิตประจำวัน มีสติรู้อยู่ตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไรอยู่ กลับถึงบ้านค่ำนี้ก่อนนอนก็ทำกันซะหน่อย และตอนเช้าตื่นขึ้นมาก่อนไปทำงานก็ทำอีกครั้งนึงเพื่อเตรียมจิตใจให้พร้อมสำหรับวันใหม่ ต่อไป Happy Admin จะนำข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการทำสมาธิมาให้อ่านเพิ่มเติมค่ะ เพื่อเพื่อนๆ จะได้เลือกทำตามความถนัดและชอบวิธีใดก็ใช้วิธีที่เราชอบ จะได้ทำสมาธิแล้วมีความสุขและทำได้ระยะยาวค่ะ อ้าว...เริ่มทำกันเลยนะคะ แล้วก็ใครทำได้ยังไงไปถึงไหนแล้วก็ส่งข่าวมาบอก Happy Admin กันบ้างนะคะ เพื่อเราจะได้เป็นกำลังใจให้ซึ่งกันและกัน

ข้อมูล: ผศ.ดร.นฤมล มารคแมน.การเจริญสมาธิตามแนวทางพุทธศาสนา.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง,พศ.2544

ไม่มีความคิดเห็น: