หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

เพื่อนๆ คะ...การปฏิบัติสมาธิตามแนวทางพุทธศาสนามีถึง 40 วิธีหลักๆ ค่ะ

Happy Admin เคยได้ถามครูบาอาจารย์ถึงวิธีการปฏิบัติสมาธิตามแนวทางพุทธศาสนานั้นอาจมีแยกย่อยมากกว่า 40 วิธีเสียอีก แต่ที่ส่วนใหญ่นำมาสอนกันนั้นจะสรุปรวมอยู่ใน 40 วิธีหลักๆ หรือที่บางตำราเรียกว่าการปฏิบัติกรรมฐานมี 40 กองนั่นเอง กรรมฐาน หมายถึงที่ตั้งแห่งการงาน อารมณ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ อุบายทางใจ มี 2 แนวทางคือ

1. สมถกรรมฐาน หมายถึงงานฝึกจิตให้สงบ หรืออุบายสงบใจมี 40 วิธี มีวัตถุประสงค์คือ ทำให้จิตสงบ ระงับจากกิเลสที่เรียกว่านิวรณ์ 5 อันเป็นกิเลสที่กั้นจิตใจจากความดี
2. วิปัสสนากรรมฐาน หมายถึงอุบายเรืองปัญญา เป็นการฝึกอบรมปัญญาให้รู้แจ้งเห็นชัดเห็นจริงเห็นตรงต่อสภาพความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายว่ามีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งตรงต่อความเป็นจริง จนสามารถถอนความหลงผิดยึดติดในสิ่งทั้งหลายได้ การเวียนว่ายตายเกิดจะได้สั้นเข้าและจบสิ้นในที่สุด

กรรมฐาน 40 กองมีอะไรบ้าง

ก. กสิณ 10

กสิณ หมายถึง วัตถุอันจูงใจให้เข้าไปผูกอยู่ ทำให้คุมใจได้มั่น จิตใจไม่ฟุ้งซ่านซัดส่าย การเจริญกสิณ 10 มี 10 อย่างคือ

1. ปฐวีกสิณ = กสิณดิน
2. อาโปกสิณ = กสิณน้ำ
3. เตโชกสิณ = กสิณไฟ
4. วาโยกสิณ = กสิณลม
5. นีลกสิณ = กสิณสีเขียว
6. ปิตกสิณ = กสิณสีเหลือง
7. โลหิตกสิณ = กสิณสีแดง
8. โอทาตกสิณ = กสิณสีขาว
9. อาโลกกสิณ = กสิณแสงสว่าง, แสงไฟ
10.อากาสกสิณ = กสิณที่ว่าง, อากาศ

ข. อสุภ 10

อสุภ หมายถึงไม่สวยงาม มุ่งหมายถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายของคนที่ตายไป การเจริญอสุภกรรมฐานคือการพิจารณาซากศพในลักษณะต่างๆ กัน 10 ลักษณะ ให้เห็นความน่าเกลียดไม่สวยงาม ได้แก่

1. ซากศพที่ขึ้นอืดพอง
2. ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำ
3. ซากศพที่มีน้ำเหลืองแตกปริ
4. ซากศพที่ถูกฟันขาดออกจากกันเป็น 2 ท่อน
5. ซากศพที่ถูกสัตว์ เช่น สุนัข กา แร้ง ทึ้งแย่ง
6. ซากศพที่กระจายเรี่ยราด ศรีษะ มือ เท้า อยู่คนละทาง
7. ซากศพที่ถูกสับฟันด้วยมีด ถูกแทงด้วยหอก
8. ซากศพที่มีเลือดไหลอาบ
9. ซากศพที่มีหนอนไชอยู่ทั่วร่าง
10.ซากศพที่เหลือแต่กระดูก

ค. อนุสติ 10

อนุสติ คือการระลึกถึงอยู่เนืองๆ เสมอๆ มีสติระลึกถึง มี 10 อย่างคือ

1. พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
2. ธัมมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรมเป็นอารมณ์
3. สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์เป็นอารมณ์
4. สีลานุสติ ระลึกถึงศีลที่ตนรักษาเป็นอารมณ์
5. จาคานุสติ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคเป็นอารมณ์
6. เทวตานุสติ ระลึกถึงคุณธรรมของเทวดาเป็นอารมณ์
7. อุปสมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระนิพพานเป็นอารมณ์
8. มรณสติ ระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์
9. กายคตาสติ ระลึกถึงลักษณะอาการของกายส่วนต่างๆ เป็นอารมณ์
10.อานาปานสติ ระลึกถึงลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์

ง. พรหมวิหาร 4

พรหมวิหาร หมายถึง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม คือคุณธรรมที่ทำให้เป็นพรหม หรือคุณธรรมที่พรหมมีอยู่ ได้แก่

1. เมตตา คือความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข
2. กรุณา คือความสงสาร ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
3. มุทิตา คือความพลอยยินดี เมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีมีสุข
4. อุเบกขา คือ ความวางเฉย ทำใจเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้าย ไม่ดีใจเสียใจเมื่อได้พิจารณาแล้วเห็นว่าผลที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสมควรแก่เหตุ

จ.อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือการพิจารณาความเป็นปฏิกูลในอาหาร กำหนดหมายว่าอาหารที่บริโภคเป็นสิ่งปฏิกูล เพื่อจะได้ไม่ยินดีในรสอาหาร บริโภคเพียงเพื่อดำรงชีวิตอยู่

ฉ. จตุธาตุวัฏฐาน
บางครั้งเรียกธาตุกรรมฐาน เป็นการกำหนดรู้ธาตุ 4 ภายในกายของเรา คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม พิจารณากายสักแต่ว่าเป็นธาตุ พิจารณาจนไม่เห็นความเป็นสัตว์ บุคคล หญิง ชาย เรา เขา

ช. อรูปกรรมฐาน 4
เป็นกรรมฐานที่ต้องได้รูปฌาน 4 ก่อนจึงจะปฏิบัติได้ จึงไม่ใช่กรรมฐานสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐาน ไม่ได้ฌานจะปฏิบัติได้ อรูปกรรมฐาน 4 ได้แก่

1. อากาสานัญจายตนะ กำหนดช่องว่างหรืออากาศหาที่สุดไม่ได้เป็นอารมณ์
2. วิญญาณัญจายตนะ กำหนดวิญญาณหาที่สุดไม่ได้เป็นอารมณ์
3. อากิญจัญญายตนะ กำหนดภาวะไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์
4. เนวสัญญานาสัญญายตนะ เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

เพื่อนๆ คะ 40 วิธีหรือ 40 กองเยอะแยะไปหมด ในที่นี้ Happy Admin ขอนำเสนอเพื่ออธิบายรายละเอียดวิธีการปฏิบัติอันเป็นวิธีที่เพื่อนๆ น่าจะได้ยินหรือคุ้นเคยในการปฏิบัติอยู่บ้างแล้ว นั่นคือ อานาปานสติ ซึ่งเป็นกรรมฐานในหมวดของอนุสติ 10 นะคะและน่าจะถือได้ว่าเป็นกรรมฐานพื้นฐานที่ส่งเสริมให้การปฏิบัติวิธีอื่นได้ผลดีหรือสำเร็จเร็วขึ้นก็ว่าได้
อานาปานสติ หมายถึงสติที่เกิดขึ้นโดยมีการระลึกอยู่ในลมหายใจเข้าออก อานาปานสติ เป็นกรรมฐานในหมวดอนุสติ 10 และเป็นสติปัฏฐานด้วย การเจริญอานาปานสติจึงเป็นไปได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา

วิธีการเจริญอานาปานสติ

การเจริญอานาปานสติ หากจะให้จิตสงบถึงระดับฌานต้องหาสถานที่ที่สงบสงัด ให้นั่งคู้บัลลังก์หรือนั่งขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรงอย่าค้อมมาข้างหน้าหรือแอ่นไปข้างหลัง เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วหัวแม่มือจรดกัน การนั่งในท่านี้มีผลดีคือทำให้ตัวตรง เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลมหายใจเดินสะดวก นิ่งได้นาน สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่ทำให้ไม่สามารถนั่งขัดสมาธิได้ จะนั่งห้อยเท้า นั่งบนเก้าอี้ก็ได้ ให้เลือกเอาอิริยาบถที่นั่งได้สบายพอดี ผ่อนคลาย ไม่ฝืนเกินไป และเป็นท่านั่งที่ทำให้นั่งได้นาน เมื่อนั่งไปเรียบร้อยแล้วให้หลับตาลงเบาๆ อย่าแกร่ง หายใจยาวๆ ลึกๆ ช้าๆ ที่เรียกว่าหายใจให้เต็มปอด ให้จิตใจโปร่งสบาย คอยกำหนดลมหายใจเข้าออกให้รู้ชัด รู้สึกตัวตลอดอย่าหลงลืมหรือเผลอสติ เมื่อหายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจเข้าออกยาวก็รู้ว่าหายใจเข้าออกยาว หายใจเข้าออกสั้นก็ให้รู้ว่าหายใจเข้าออกสั้น การกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้ให้นับไปด้วยจะได้ไม่เผลอสติหรือลืมกำหนด

ก. การนับ แบ่งออกเป็น 2 ตอนคือ
1. ช่วงแรกๆ ให้นับช้าๆ อย่านับต่ำกว่า 5 และอย่านับให้เกิน 10 โดยนับเป็นคู่ๆ คือ

ลมออกนับ 1 ลมเข้านับ 1
ลมออกนับ 2 ลมเข้านับ 2
ลมออกนับ 3 ลมเข้านับ 3

ให้นับเช่นนี้จนถึง 5,5 แล้วตั้งต้นใหม่จนถึง 6,6 ย้อนนับตั้งแต่ต้นใหม่ถึง 7,7 จนถึง 10,10 แล้วย้อนมาที่ 5,5 ใหม่ดังนี้

1,1 2,2 3,3 4,4 5,5
1,1 2,2 3,3 4,4 5,5 6,6
1,1 2,2 3,3 4,4 5,5 6,6 7,7
1,1 2,2 3,3 4,4 5,5 6,6 7,7 8,8
1,1 2,2 3,3 4,4 5,5 6,6 7,7 8,8 9,9
1,1 2,2 3,3 4,4 5,5 6,6 7,7 8,8 9,9 10,10
1,1 2,2 3,3 4,4 5,5

2. ช่วงหลังให้นับเร็วขึ้น เมื่อลมหายใจชัดเจนแล้วให้เปลี่ยนจากนับช้าๆ มานับให้เร็วขึ้น ไม่ต้องเอาสติตามลมเข้าลมออก ให้เอาสติกำหนดการกระทบของลมที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากบน แล้วแต่ว่าจะรู้สึกชัดเจนที่ไหน การนับไม่ต้องนับเป็นคู่ ให้นับ 1 ถึง 5 เลย แล้วเพิ่ม 1 ถึง 6 จน 1 ถึง 10 แล้วย้อนกลับมา 1 ถึง 5 ใหม่จนสติแน่วแน่

1,2,3,4,5
1,2,3,4,5,6
1,2,3,4,5,6,7
1,2,3,4,5,6,7,8
1,2,3,4,5,6,7,8,9
1,2,3,4,5,6,7,8,9,10
1,2,3,4,5,

ข. การติดตาม เมื่อสติอยู่กับลมหายใจแล้วไม่ต้องนับลมอีก แต่ดูให้การกระทบต่อจุดกระทบคือปลายจมูกหรือริมฝีปากบน ไม่ต้องตามลมเข้าลมออก จดจ่ออยู่เพียงจุดกระทบของลม เมื่อลมหายใจละเอียดเข้าๆ ความกระวนกระวาย ความเครียดก็สงบลงไป จิตจะเบา กายก็เบา เมื่อปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆ ลมก็จะยิ่งละเอียดขึ้นๆ ๆ จนเหมือนลมหายไปไม่รู้สึกถึงลมกระทบเลย

สำหรับใครที่ปฏิบัติอานาปานสติอยู่แล้วแต่ไม่ได้เน้นการนับ ใช้การภาวนาพุทโธก็ดี สัมมาอรหังก็ดี ฯลฯ ควบคู่กับการดูลมหายใจถือเป็นการทำกรรมฐานทั้งอานาปานสติและพุทธานุสติไปด้วยในตัว อีกทั้งการปฏิบัติด้วยการเดินหรือที่เรียกกันคุ้นหูว่า เดินจงกรม แล้วดูลมหายใจไปด้วย ภาวนาไปด้วย จัดเป็นวิธีการปฏิบัติที่ดีอย่างนึงแถมช่วยผ่อนคลายความเมื่อยจากอิริยาบถนั่งได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

อานาปานสติเป็นกรรมฐานที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญและทรงปฏิบัติอยู่เสมอ เป็นบาทฐานไปสู่วิปัสสนา เป็นกรรมฐานที่ไม่ต้องจัดหาอุปกรณ์มาปฏิบัติ ต่างจากกรรมฐานอื่น เช่น กสิณ อสุภกรรมฐาน ที่ต้องหาอุปกรณ์จัดเตรียมการ เพราะอานาปานสติใช้เพียงลมหายใจที่มีอยู่แล้วกับตัวเรา และเป็นกรรมฐานที่ปฏิบัติแล้วเบาสบายปลอดโปร่ง ได้พักสมองพักกาย ไม่ต้องใช้สายตาเพ่งแบบกสิณ ไม่ต้องเครียด และเมื่อปฏิบัติไปจนลมหายใจละเอียด ร่างกายใช้พลังงานน้อยลง ได้พักผ่อนเหมือนกับการได้นอนหลับ ช่วยให้ทำงานได้มากขึ้นโดยไม่พักผ่อนมาก งานก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรข้ามไปจากบทความนี้ คือการเลือกกรรมฐานให้เหมาะกับจริตค่ะ เราต้องพิจารณาว่าอุปนิสัยของเราโน้มเอียงหรือหนักไปในทางใด มีหลักพิจารณาดังต่อไปนี้

1. คนราคจริต นิสัยหนักไปทางราคะ รักสวยรักงาม รักสะอาด พิถีพิถันเรื่องการแต่งตัว การบริโภคอาหารที่ดีๆ ทำการใดก็ทำอย่างมีระเบียบเรียบร้อยสวยงาม
- กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ อสุภ 10 (พิจารณาซากศพ) และ กายคตาสติ (พิจารณากาย พิจารณาอาการ 32 ของกาย)

2. คนโทสจริต นิสัยหนักไปทางโทสะ ใจร้อนหงุดหงิด อารมณ์รุนแรง ทำการงานสะอาดแต่ไม่เรียบร้อย ตึงตังโครมคราม รับประทานอาหารเร็ว เดินเร็ว ฝีเท้าหนัก ชอบวิวาท
- กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ พรหมวิหาร 4 กสิณสี 4 กลุ่ม (กสิณสีแดง กสิณสีขาว กสิณสีเขียว และกสิณสีเหลือง)

3. คนโมหจริต นิสัยหนักไปทางโมหะ ค่อนข้างเขลา เชื่อง่ายงมงาย เซื่องซึมไม่กระปรี้กระเปร่า เหม่อลอย ท้อถอย ไม่เข้มแข็ง ทำงานใดก็ทำอย่างหยาบๆ ไม่สะอาด ไม่เรียบร้อย ชอบเผลอสติ
- กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ อานาปานสติ (การดูลมหายใจเข้าออก)

4. คนสัทธาจริต นิสัยหนักไปในทางศรัทธา น้อมใจเลื่อมใสได้ง่าย ไม่มีมารยา
- กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ อนุสติ 6 (พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ และเทวตานุสติ)

5. คนพุทธิจริต นิสัยหนักไปในทางชอบใช้เหตุผล สติปัญญา ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ชอบศึกษา ครุ่นคิด
- กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ มรณานุสติ อุปสมานุสติ จตุธาตุวัฏฐาน และอาหาเรปฏิกูลสัญญา

6. คนวิตกจริต นิสัยหนักไปในทางวิตกกังวล ย้ำคิด ฟุ้งซ่าน วาดวิมานในอากาศ กลัวไปล่วงหน้าทั้งที่เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น
- กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ อานาปานสติ

ส่วนปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ และ วาโยกสิณ และอรูปฌาน 4 เหมาะกับคนทุกจริต เมื่อเลือกเจริญสมาธิหรือปฏิบัติกรรมฐานแบบใดแล้วเห็นว่าเหมาะกับจริตของตนเอง ก็ไม่ควรโลเลเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำวิธีโน้นบ้าง ทำวิธีนี้บ้าง จนท้ายที่สุดสมาธิไม่ตั้งมั่นไม่เป็นเรื่องเป็นราว เมื่อได้วิธีการที่เหมาะกับจริตนิสัยของเราแล้วก็ควรตั้งใจปฏิบัติไปจนถึงที่สุดแห่งวิธีการหรือสมาธินั้นๆ


ส่วนเพื่อนๆ ที่นับถือศาสนาอื่นๆ ก็คงจะมีวิธีปฏิบัติสมาธิตามแนวทางของศาสนาอื่นอยู่แล้ว ทั้งการสวดมนต์ก็ดี การร่วมกันทำจิตใจให้สงบ และการร่วมร้องเพลงของศาสนานั้นก็ดี ทำให้เราได้ปฏิบัติสมาธิไปในตัวและยังได้ความเพลิดเพลินผ่อนคลายอีกด้วย ไม่ว่าเราจะใช้วิธีการใดหรือของศาสนาใดก็ตาม สำคัญอยู่ที่เราได้ทำได้ปฏิบัติจริงและทำอย่างสม่ำเสมอค่ะ นอกจากจะได้บุญกุศลแล้วยังทำให้เราคลายเครียด มีความสุข สังคมก็จะมีสันติสุขไปด้วยค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:ผศ.ดร.นฤมล มารคแมน.การเจริญสมาธิตามแนวทางพุทธศาสนา.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง,พศ.2544

ไม่มีความคิดเห็น: