หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เพื่อนๆ รู้จัก "นาฬิกาชีวิต" ไม๊คะ?




เรื่องของ"นาฬิกาชีวิต" เป็นเรื่องการดูแลสุขภาพที่เผยแพร่โดยอาจารย์ สุทธิวัสส์ คำภา ท่านเป็นนักธรรมชาติบำบัดที่มีพื้นฐานจากครอบครัวแพทย์แผนไทยประกอบกับมีประสบการณ์ในการสืบค้นภูมิปัญญาไทยตามแนวธรรมชาติบำบัดยาวนานกว่า 30 ปีทั่วประเทศ ได้ค้นคว้าการแพทย์ในพระไตรปิฏกของพุทธศาสนา และท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการใช้ลูกดิ่ง (Pendulum) สำหรับประเมินสภาวะสุขภาพผสมผสานกับความรู้เรื่องธรรมชาติบำบัดดังกล่าว อาจารย์ สุทธิวัสส์ ได้เผยแพร่ความรู้เรื่องสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บเกิดจากมูลเหตุตามพระไตรปิฏก คือ
1. กรรม 2. จิต 3. พลัง 4. ร่างกายและอาหาร
ความรู้เรื่องนาฬิกาชีวิตนี้ท่านได้เผยแพร่ไว้และมีผู้ศรัทธานำมาเผยแพร่ต่อๆ กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมเป็นอย่างยิ่ง

การแพทย์ตะวันออกถือว่า กลางวันและกลางคืนมีความสัมพันธ์กับสุขภาพของมนุษย์อย่างแยกไม่ออก โดยมองลึกลงไปอีกว่า ช่วงเวลา 24 ชั่วโมงในหนึ่งวันนั้น ภายในร่างกายของมนุษย์ยังมีการไหลเวียนของพลังชีวิตที่ผ่านอวัยวะภายในของร่างกายซึ่งประกอบด้วย อวัยวะตันและอวัยวะกลวง

อวัยวะตัน หมายถึง หัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด ม้าม ตับ ไต
อวัยวะกลวง หมายถึง กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ ระบบความร้อนของร่างกาย (ชานเจียว)

การไหลเวียนของพลังชีวิต (ลมปราณ) ที่ผ่านแต่ละอวัยวะนั้นจะใช้เวลาสองชั่วโมง ทั้งหมดมี 12 อวัยวะ รวม 24 ชั่วโมง คือ หนึ่งวัน เรียกว่า "นาฬิกาชีวิต"
การดำเนินชีวิตและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ จึงเป็นหลักฐานของการมีสุขภาพที่ดี และมีอายุยืน ปราศจากโรค โดยแบ่งเป็นช่วงเวลาดังนี้

01.00-03.00 น. เป็นช่วงเวลาของตับ ควรนอนหลับพักผ่อน ถ้าใครนอนหลับได้ดีเป็นประจำในช่วงเวลานี้ ตับจะหลั่งสารมีราโท
นิน (meratonine) เพื่อฆ่าเชื้อโรค ทำให้หน้าอ่อนกว่าวัย นอกจากร่างกายจะหลั่งสารมีราโทนินเป็นประจำแล้ว ยังหลั่งสารเอนโดรฟิน (endorphin) ออกมาด้วยจึงไม่ควรกินอาหารเพราะจะทำให้ตับทำงานหนักและเสื่อมเร็ว หน้าที่หลักของตับคือ ขจัดสารพิษในร่างกาย ส่วนหน้าที่รองคือ
1. ช่วยไตในการดูแลผม ขน เล็บ ถ้าตับมีปัญหา ผม ขน เล็บจะไม่สวย
2. ช่วยกระเพาะย่อยอาหาร ถ้ากินบ่อยๆ จะทำให้ตับทำงานหนัก ตับจะหลั่งน้ำย่อยออกมามากจึงไม่ได้ทำหน้าหลัก เป็นเหตุให้สารพิษตกค้างในตับ
03.00-05.00 น. เป็นช่วงเวลาของปอด จึงควรตื่นนอนลุกขึ้นเพื่อสูดอากาศที่บริสุทธิ์ และรับแสงแดดในยามเช้า ผู้ที่ตื่นนอนช่วงนี้เป็นประจำปอดจะดี ผิวดีขึ้น และจะเป็นคนที่มีอำนาจในตัว
05.00-07.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ลำไส้ใหญ่ ควรขับถ่ายอุจจาระทำให้เป็นนิสัยทุกเช้า
07.00-09.00 น. เป็นช่วงเวลาของกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารจะทำงาน ถ้ากินอาหารเช้าในช่วงเวลานี้ทุกวัน กระเพาะอาหารจะแข็งแรง ถ้าปล่อยให้กระเพาะอาหารอ่อนแอ จะส่งผลให้เป็นคนตัดสินใจช้าขี้กังวล ขาไม่ค่อยมีแรง ปวดเข่า หน้าแก่เร็วกว่าวัย
09.00-11.00 น. เป็นช่วงเวลาของม้าม ม้ามจะอยู่ชายโครงด้านซ้าย มีหน้าที่ควบคุมเม็ดเลือดสร้างน้ำเหลือง ควบคุมไขมัน คนที่ปวดศรีษะบ่อยมักมาจากความผิดปกติของม้าม อาการเจ็บชายโครงสาเหตุมาจากม้ามกับตับ
11.00-13.00 น. เป็นช่วงเวลาของหัวใจ หัวใจทำงานหนักในช่วงเวลานี้ จึงควรหลีกเลี่ยงความเครียด เหตุที่ทำให้ต้องใช้ความคิดหนัก และหาทางระงับอารมณ์ตื่นเต้นหรืออาการตกใจให้ได้
13.00--15.00 น. เป็นช่วงเวลาของลำไส้เล็ก จึงควรงดการกินอาหารทุกประเภทเพื่อเปิดโอกาสให้ลำไส้ทำงาน ลำไส้เล็กมีหน้าที่ดูดซึมสารอาหารที่เป็นน้ำทุกชนิด เช่นวิตามินซี บี โปรตีน เพื่อสร้างกรดอะมิโนสร้างเซลส์สมอง ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สร้างไข่สำหรับผู้หญิง ถ้ากรดอะมิโนน้อยไข่จะมาไม่ครบทุกเดือน
15.00-17.00 น. เป็นช่วงเวลาของกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะจะเกี่ยวข้องกับระบบความจำ ไทรอยด์ และระบบเพศทั้งหมด ช่วงเวลานี้ควรทำให้เหงื่อออก อาจจะออกกำลังกายหรืออบตัว กระเพาะปัสสาวะจะได้แข็งแรง การอั้นปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เหงื่อที่ออกมามีกลิ่นเหม็นเหมือนปัสสาวะ
17.00-19.00 น. เป็นช่วงเวลาของไต จึงควรทำใจให้สดชื่น ไม่ง่วงเหงาหาวนอนในช่วงเวลานี้ ผู้ใดมีอาการง่วงนอนช่วงเวลานี้ แสดงว่ามีปัญหาเรื่องไตเสื่อม
19.00-21.00 น. เป็นช่วงเวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ ช่วงเวลานี้ควรจะสวดมนต์ ทำสมาธิ
21.00-23.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ต้องทำให้ร่างกายอบอุ่น จึงห้ามอาบน้ำเย็นในช่วงเวลานี้เพราะจะทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย อย่าไปตากลม เพราะเป็นช่วงที่ลมเป็นพิษ
23.00-01.00 น. เป็นช่วงเวลาของถุงน้ำดี (ถุงน้ำดีเป็นถุงสำรองเก็บน้ำย่อยที่ออกมาจากตับ) อวัยวะใดในร่างกายเมื่อขาดน้ำ จะมาดึงน้ำจากถุงน้ำดี ทำให้ถุงน้ำดีข้น เป็นผลให้อารมณ์ฉุนเฉียว สายตาเสื่อม เหงือกจะบวม ปวดฟัน นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก หรือตื่นเช้าจะจาม ดังนั้นควรดื่มน้ำก่อนเข้านอนหรือก่อนเวลา 23.00 น.

อ้างอิงข้อมูล: อาจารย์นวลฉวี ทรรพนันทน์. นาฬิกาชีวิต.เว็บไซต์ http://www.si.mahidol.ac.th/Th/division/shdp/admin/knowledges_files/5_27_1.pdf
รูปภาพประกอบ : ล้อเกวียน.เวลาชีวิต.พิมพ์ครั้งที่ 5.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์กลั่นแก่น,สิงหาคม 2550.

ไม่มีความคิดเห็น: